วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Dudble


ยุทธการเล่นคู่ ยุทธการเล่นคู่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้เล่นทั้งสองในการเล่นเทนนิสประเภทคู่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นทั้งสองคนเป็นพื้นฐานสำคัญ

ลักษณะประการแรกที่จะเป็นพื้นฐานให้ต่างช่วยเหลือกันได้ก็คือ การมีจุดประสงค์ร่วมที่จะพูดจาทำความเข้าใจกันของผู้เล่นทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้าหรือหลังการแข่งขันก็ตาม สาระที่จะต้องพูดถึงคือยุทธวิธีและกลวิธีที่จะเล่นกับผู้ต่อสู้ โดยต่างฝ่ายต้องพูดกันอย่างเปิดเผยไม่ปิดบัง และรูปแบบการเล่นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแข็งแกร่งฝ่ายตน ด้วยจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนี้คุณทั้งสองยังต้องรู้จักจุดอ่อนและทิศทางการเล่นของคู่ต่อสู้เป็นอย่างดี และคงจะเป็นความคิดที่ดี ถ้าคุณทั้งสองคนจะมาตกลงในการสับเปลี่ยนวิธีการเล่นเสียบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคู่ต่อสู้ของคุณก็จะจับทางได้ในไม่ช้า

ก่อนการเล่น คุณทั้งสองควรตกลงกันว่า ใครจะเป็นผู้เสิร์ฟก่อน แน่นอนที่สุดหากฝ่ายคุณเป็นฝ่ายได้เลือกก่อน คุณก็คงจะเลือกเอาเสิร์ฟก่อนมากกว่าเลือกข้างก่อน แม้ว่าในการเล่นเดี่ยวบางครั้ง การเลือกเป็นฝ่ายเสิร์ฟทีหลังอาจได้เปรียบเมื่อคุณคิดว่ามันง่ายเหลือเกินในการเบรคเกมเสิร์ฟแรก แต่สำหรับการเล่นคู่ คุณจะละเลยโอกาสในการเป็นฝ่ายเสิร์ฟก่อนไม่ได้เป็นอันขาด และผู้เล่นที่เสิร์ฟได้ดีกว่าจะต้องเป็นคนเสิร์ฟก่อนเป็นคนแรก

ในขณะการเล่นกำลังดำเนินอยู่นั้น พยายามทำเส้นทางการติดต่อของคุณทั้งสองคนดำเนินไปพร้อมๆกันด้วย ในการที่จะช่วยกันพิจารณาถึงสภาพการเล่น มีโอกาสมากมายซึ่งส่วนใหญ่จะสูญเปล่าปด้วยการหยอกเย้ากันระหว่างคู่กันเองในการเล่นคู่ ควรใช้เวลาเหล่านั้นมาตกลงกันในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่น เมื่อการเล่นที่ตกลงกันไว้ในตอนแรกไม่เป็นผล หรือใช้เวลาเหล่านั้นบอกคู่ของคุณเองว่าคุณกำลังจะเปลี่ยนวิธีการเล่นและขอให้ปรับการเล่นให้เข้ากันด้วย

ถ้าคู่ของคุณเป็นผู้เสิร์ฟและกำลังเสิร์ฟ และคุณคิดว่าคุณจะโฉบทำแต้มในลูกนี้ คู่ของคุณก็ต้องพยายามเสิร์ฟให้ดีและบีบให้คู่ต่อสู้ต้องรับลูกกลับมาเป็นไปตามที่คุณคาดการณ์ไว้
ถ้าคุณเป็นผู้รับลูกเสิร์ฟ และก็ตกลงกับคู่ของคุณว่า คุณจะรับลูกเสิร์ฟด้วยโฟร์แฮนด์ขนานเส้นข้างเพื่อหวังผลหากคู่ของผู้เสิร์ฟถลำออกมาหวังโฉบทำแต้ม ซึ่งในกรณีนี้คู่ของคุณต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้นกว่าปกติ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากในการที่ผู้เสิร์ฟจะใช้วิธีส่งสัญญาณเป็นรหัสด้วยนิ้วมือโดยซ่อนมือไว้ทางด้านหลังของตนเองเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้เห็น เพื่อบอกกับผู้เสิร์ฟว่าจะโฉบหรือไม่โฉบ เป็นการทำให้ผู้เสิร์ฟสามารถตั้งเป้าหมายของการเสิร์ฟได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ปัญหาในการส่งสัญญาณรหัสนิ้วนี้มีอยู่ที่ว่า ผู้ใช้จะรู้ถึงกาละเทศะของการใช้ให้ถูกสถานการณ์และใช้อย่างไรเท่านั้น

ไม่ควรจะส่งสัญญาณรหัสนิ้วมือในขณะจะโฉบ ซึ่งคู่ต่อสู้คงไม่เปิดโอกาสและเวลาให้คุณทำได้ นอกจากนี้คุณก็จะเกิดความเบื่อหน่ายเพราะไม่ได้ผล ทางที่ดีต้องส่งสัญญาณนี้ก่อนที่คู่ของคุณจะลงมือเสิร์ฟ บางครั้งในขณะที่กำลังเดินเปลี่ยนข้างกันนั้น ก็มีเวลาอยู่บ้างที่จะบอกคำแนะนำหรือเทคนิคการเล่นแก่คู่ของคุณเพื่อทำให้ทีมของคุณแข็งแกร่งยิ่งขึ้น คงจะไม่มีเวลามากนักในการที่จะบอกวิธีการเล่นกันอย่างทันทีในการที่จะตัดสินใจเข้าตีลูกที่พุ่งมาตรงกลางระหว่างทั้งสอง แต่ก็สามารถที่จะเรียกขอความช่วยเหลืออย่างสั้นๆถ้าเกิดเหตุกาณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น ที่พบเห็นอยู่เสมอก็มี “ไมน์” หรือ “ยัวร์” ซึ่งหมายความว่าฉันเป็นคนตีเอง หรือ ต้องการให้เธอช่วย เป็นต้น

ถ้าคุณตั้งใจที่จะถอยไปท้ายคอร์ทเพื่อรับลูกโด่งคุณควรจะตะโกนว่า “ถอย” เพื่อให้คู่ของคุณถอยมารวมกับคุณและตั้งแนวรับให้ดี และบอกคำว่า “ครอส” ขณะที่คุณต้องย้ายด้านยืนในตำแหน่งที่อยู่ด้านหลังของคู่ของคุณ เพื่อให้คู่ของคุณรู้ว่า เขาควรจะสลับด้านไปทางไหน

มันเป็นความรู้สึกทั่วไปของผู้เล่นที่จะสร้างความหวังและความไว้วางใจในคู่ของเขาม่ว่าหญิงหรือชาย ดังนั้นถ้าคุณต้องเป็นคู่ของใครก็ตาม ในสถานการณ์ต่างๆ สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ทำตัวง่ายๆและเอาใจช่วยในการที่จะเปิดปากพูดอะไรออกมาบ้างหรือ อาจจะส่งสัญญาณบ้างบางครั้ง ในการที่จะทำให้คู่ของคุณตั้งใจเล่นให้ได้ในแต้มต่อไป

การที่จะพูดกันมากๆ โดยการบอกกล่าวแก่กันอย่างพร่ำเพรื่อเพื่อปลอบขวัญหรือเตือนสติกันนั้นอาจไม่ได้ผลหรือยิ่งส่งผลให้เลวร้ายยิ่งขึ้น แต่วิธีการพูดสั้นๆหรือใช้คำพูดเพียงไม่กี่คำ หรือการแสดงออกด้วยทีท่าบางอย่างนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คำพูดสั้นๆนั้นเป็นคำที่หนักแน่นและไว้ใจได้เท่านั้น

กับคู่บางคนนั้น การทำสิ่งที่ตลกขบขันที่สังเกตได้ง่ายๆ นั้นดูจะเป็นสัญญาณการบอกกล่าวได้เป็นอย่างดี เช่น รอล รามิเรซ เทพบุตรเทนนิสเม็กซิโก และ ไบรอัน ก็อตฟรีต์ นักเทนนิสอเมริกันซึ่งเป็นคู่เล่นที่เข้ากันได้ดีคู่หนึ่งในจำนวนนักเทนนิสระดับโลกปัจจุบัน บางครั้งก็หัวเราะใส่คู่ของตนเองถ้าผู้นั้นผิดพลาด ซึ่งเป็นการคลายความตึงเครียด ได้ดีเช่นกันและยังเป็นการดึงคู่ของคุณให้ตื่นขึ้นและเลิกความคิดท้อถอยให้กลับมาตั้งใจเล่นอย่างเดิม สิ่งที่แย่ที่สุดในการเล่นคู่ก็คือ การวิจารณ์หรือต่อว่าคู่ของตนเองออกมาเป็นถ้อยคำในขณะทำการเล่น และบางครั้งก็เป็นการยากเช่นกันในการที่จะหลีกเลี่ยงการพบกับการแสดงออกของคู่ของคุณที่กำลังกระฟัดกระเฟียดและอารมณ์ไม่ดี อย่าพยาบยามทำให้อารมณ์ร้ายของคุณกับคู่ของคุณทวีขึ้นมากๆความจริงแล้วคุณต้องมีความอดทน และต่างต้องพยายามอดทนซึ่งกันและกัน

การให้คำปรึกษาหรือให้ข้อแนะนำในการเล่นนั้น บางครั้งหากไม่รู้จังหวะหรือรอโอกาสเหมาะในการบอกกล่าวก็อาจจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับคู่ของตนเองก็ได้ ดังนั้นสำเนียงที่พูดจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือพยายามทำให้มันเป็นสำเนียงของการปลอบใจจะทำให้เขามีกำลังใจและเลิกวิตกกังวลกับปัญหาของเขาในที่สุด

แต่คำปรึกษาประเภท “ลูกตาน่ะมองบอลมั่งซิ ! ” คุณอาจจะได้รับคำตอบกลับมาว่า “ให้ตายเถอะ ! คิดว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ล่ะ ? ” หรืออะไรอีกสารพัดในทำนองเดียวกัน และทีนี้สัมพันธ์ภาพ ระหว่างคุณกับคู่ของคุณก็จะค่อยๆจางลงหรือหายวับไปในทันทีก็ย่อมเป็นไปได้ ถ้าคู้ของคุณมีปัญหาในการเสิร์ฟอย่างเดียวเพราะในขณะนั้นคุณเองย่อมต้องเตรียมพร้อมอยู่ที่หน้าเน็ตแล้ว ไม่สามารถที่จะพะวงอยู่กับลักษณะการเสิร์ฟของเขาได้แต่พิจารณาดูได้จากผลการเสิร์ฟของเขาเท่านั้น ถ้าลูกเสิร์ฟติดเน็ตก็แสดงว่าเขาโยนลูกต่ำไปหรือล้ำหน้ามากไป แต่ถ้าลูกเสิร์ฟยาวออกนอกเส้นเสิร์ฟก็หมายความว่าเขาโยนลูกสูงเกินไปและตีล้ำเข้าหาตัวมากเกินไปซึ่งคุณอาจให้คำแนะนำเขาเพียงสั้นๆว่าให้โยนลูกสูงอีกนิดเดียวนะ หรือโยนให้ล้ำหน้าอีกหน่อยน่ะ

ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ อย่าพยายามให้การเล่นคู่ของคุณเถรตรงเป็นไปตามบทเรียน เพราะคู่ของคุณอาจจะปรับตัวให้เข้ากับวิธีการเล่นตามแบบฉบับของคุณไม่ได้ทันทีควรหาคำแนะนำหรือวิธีเล่นที่ง่ายต่อการเข้าใจและปรับตัวให้เล่นได้โดยผู้ที่เล่นเป็นผู้รับฟัง ทั้งนี้ให้ตรงกับเป้าหมายและให้ทำได้โดยไม่ยาก การขอโทษขอโพยกันจนวุ่นวายเกนไปเมื่อคุณเกิดผิดพลาดในการเล่นกับคู่ของคุณที่คิดว่าเขาดีกว่าคุณนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและดูเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรำคาญ เพราะทุกคนย่อมเข้าใจดีว่า ต่างก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เทนนิสเป็นเกมการเล่นที่มีข้อผิดพลาดง่ายที่สุด ดังนั้นหากจะเล่นเทนนิสก็ต้องลืมคำว่าเสียใจ / น้อยโหน่ง ชัยชนะในการเล่นคู่

หากการแข่งขันประเภทเดี่ยวคือการหักล้างทางสมาธิและกำลัง การเล่นในประเภทคู่จึงเป็นการต่อสู้กันทาง ปัญญา ความว่องไว และความสามารถในการแก้ไขสภาพเกมของแต่ละบุคคล คุณสมบัติของการเล่นคู่โดยทั่วๆไปมักประกอบด้วย การใช้จุดเด่นของตนเข้าแก้จุดด้อย มีพื้นฐานการเล่นที่แน่นอนและมีความสัมพันธ์ในการเล่นระหว่างคู่เล่นเป็นอย่างดี

การเอาชนะคู่ต่อสู้ที่ดีที่สุดคือการรู้จุดด้อยและจุดเด่นของเขา
เราจะรู้ได้อย่างไร ?
นั่นก็ต้องอาศัยความพยายามเล็กน้อย คือ หากรู้ว่าคู่ต่อสู้ฝึกซ้อมที่สนามใดเป็นประจำ ก็ต้องติดตามเฝ้าดูการฝึกซ้อมของเขา พิจารณาดูว่ากราวน์สโตรคของเขาเป็นอย่างไร ? วอลเลย์ดีใหม ? หลอบแน่นอนหรือเปล่า ? ลูกตบเหนือศีรษะเฉียบขาดเพียงใด ? ตลอดจนดูการเสิร์ฟทั้งสองครั้ง การเคลื่อนที่ระหว่างคู่ต่อสู้ทั้งสองคนประสานกันเพียงใด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดต้องบันทึกไว้และพยายามแยกแยะให้ได้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของคู่ต่อสู้ พิจารณาให้ได้ว่าเขาถนัดหน้าเน็ตหรือท้ายคอร์ท มีคู่ต่อสู้น้อยรายที่เก่งทั้งหน้าเน็ตและท้ายคอร์ท

นอกจากนี้ เราสามารถจะเรียนรู้ถึงทีมเวิร์คของคู่ต่อสู้หลายๆคู่จากการแข่งขันแมทช์ใหญ่ๆต่างๆ แล้วบันทึกไว้ ในขณะที่เฝ้าดูต้องสมมติว่าตนเองเป็นฝ่ายลงแข่งขันเอง พยายามแก้ไขสิ่งที่เขาพลาด และคิดอยู่ตลอดเวลาในการแก้ไขสภาพเกมการเล่น

หากทำได้ ก็ย่อมหมายความว่าเราจะกุมชัยชนะมาอยู่ในกำมือเราแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง
การแบ่งแยกและชัยชนะ
คู่ใดที่มีประสบการณ์ในการซ้อมด้วยกันน้อย มักมีข้อบกพร่องทางเทคนิคอยู่เสมอ โดยมากเรามักจะตีลงตรงกลางและบริเวณเส้นเสิร์ฟอยู่เสมอในการเล่นคู่ ดังนั้นความสับสนของทีมเวิร์คเมื่อขึ้นหน้าเน็ตเพื่อวอลเลย์หรือหลอบจะชักนำโอกาสทำแต้มให้ห่างออกไปเรื่อยๆและจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ต่อสู้เมื่อถูกนำเอาจุดนี้คอยหาคะแนนและชนะไปในที่สุดหากแก้ไขไม่ตก

เป็นสิ่งที่ดีหากคุณจะพยายามเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่รับผิดชอบ เพื่อเข้ารับสถานการณ์ต่างๆในกรณีที่คู่ของคุณต้องโฉบทำแต้มและต้องเคลื่อนตัวถลำออกจากตำแหน่งที่เขาครอบคลุมอยู่ การเคลื่อนที่ของคุณเป็นไปในลักษณะของการเข้าอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นคู่ของคุณก็จะไม่วกกลับไปตำแหน่งเดิมของเขา หากแต่จะเข้าครอบคลุมในตำแหน่งแทนคุณ

อย่ารู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะตีลูกเข้าใส่ผู้ที่อ่อนกว่าในฝ่ายตรงข้ามเพราะย่อมเป็นธรรมดาของการเล่นที่จะต้องหาทางทำลายคู่ต่อสู้ด้วยการตีเข้าส่ช่องทางที่คิดว่าจะทำแต้มได้ ไม่มีใครเลยที่อยากเอาชนะโดยการเอาปมด้อยของตนไปสู้กับปมเด่น ซึ่งมักจะประสบกับความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน หากรู้สึกไม่สบายใจที่จะตีลูกยัดเข้าใส่มือที่อ่อนกว่า ก็เลี่ยงไปตีพาสซิ่งช็อตผ่านเข้าช่องกลางระหว่างคู่ต่อสู้ทั้งสองก็ได้เช่นกัน แต่ก็พึงสังวรณ์ว่าความใจอ่อนในการเล่นนั้นทำให้ต้องฆ่าตัวเองมามากต่มากรายแล้ว

คู่เล่นที่มีทีมเวิร์คดีๆ ก็อาจโชคร้ายได้เช่นกัน เพราะบางครั้งที่เขามั่นใจในลูกที่ตีไป แต่บังเอิญเขาปรานีตมากเกินไปและเสียแต้มในลูกนั้น เขาจะรู้สึกเสียดายและหงุดหงิด ซึ่งอาจจะนำมาสู่การเสียสมาธิได้ ดังนั้นจงระลึกอยู่เสมอว่า อย่าเล่นกับจุดเด่นของคู่ต่อสู้ แต่จงมองหาจุดด้อยและพยายามตักตวงแต้มจากจุดดังกล่าวนี้ให้มากที่สุด เล่นต้านเกม แต่อย่าเล่นตามเกม ผู้เล่นที่มีประสบการณ์น้อยมักมีความตึงเครียดในขณะโต้ตอบลูกกับคู่ต่อสู้อยู่เสมอ หากต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความว่องไวและชอบเล่นวอลเลย์หน้าเน็ต ดังนั้นเมื่อต้องพบกับคู่ต่อสู้เช่นนี้ อย่าวิตก แต่ให้พยายามตีลูกเลียดเน็ตโดยสติที่มั่นคงไม่ตีหนีมากเกินไปจนลูกออก หรือพยายามบีบให้ลูกเลียดเน็ตมากเกินไปจนติดเน็ตเอง

เมื่อเผชิญกับผู้เล่นที่มีความหนักแน่น เยือกเย็น และมีการเล่นหน้าเน็ตดีเยี่ยม ต้องแก้ไขด้วยการตีให้แรงและเร็วขึ้นโดยตลอดและสม่ำเสมอ อย่าให้คู่ต่อสู้ตั้งตัวติด อาจใช้เทคนิคเล็กน้อยเข้าช่วยเช่นตีฉีกให้คู่ต่อสู้ทั้งสองแยกออกห่างจากกัน แล้วค่อยเลือกทิศทางที่หวังผลได้

หากโชคร้ายที่จะต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่มีการเสิร์ฟที่รุนแรง ลูกตบที่เด็ดขาด และการบุกหน้าเน็ตที่ดีเยี่ยมเราต้องพยายาม ควบคุมอารมณ์ให้เต็มที่อย่าเล่นเกมของเขาเป็นอันขาดพยายามลดความเร็วของลูกลงด้วยการตีตัดเฉือนใต้ลูกใช้อันเดอร์สปินให้มากๆซึ่งจะทำให้คู่ต่อสู้พบกับความลำบากในการโต้ตีกลับมา ในกรณีของการโต้ลูกเสิร์ฟที่หนักหน่วง หากเป็นไปได้ควรสไล้ซ์ครอสคอร์ทดีกว่าโต้ตรงๆกลับไป เพราะผู้เสิร์ฟจะต้องวิ่งขึ้นมารับลูกในตำแหน่งที่หากจากคู่ของเขา ทำให้ช่องว่างของฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้น และระยะวิ่งของลูกที่ยาวกว่าการโต้กลับตรงๆจะทำให้เรามีเวลามากขึ้น เกมการเล่นจะพลิกกลับเป็นช้าตามที่ต้องการ

ในกรณีที่คู่ต่อสู้ขึ้นมายืนปักหลักอยู่ที่หน้าเน็ตทั้งคู่ และต่างก็มีลูกตบที่เด็ดขาด เราควรหลอบลึกท้านคอร์ทโดยการใส่สปินให้มากๆหรือไม่ก็ตีพาสซิ่งช็อทวางปีก หรือพยายามท้อปสปินลงเท้าของคู่ต่อสู้

หากพบกับคู่ต่อสู้ที่มีลูกท้ายคอร์ทเหนียวแน่นและปักหลักอยู่ที่เส้นท้านคอร์ท ควรยิงลูกฉีกออกข้างคอร์ทเพื่อบีบคู่ต่อสู้ให้วิ่งออกไปรับลูกนอกคอร์ทมากๆ และจะทำให้มีช่องโหว่เกิดขึ้น แต่หากว่า เรามั่นใจพอต่อการตีกราวน์สโตรคของเราเองว่าเหนือกว่าคู่ต่อสู้ ก็อาจเลือกวิธีปักหลักโต้ลูกกับเขาที่ท้ายคอร์ทก็ได้ แต่นั่นมันหมายถึงการยืดเยื้อและน่าเบื่อหน่ายทีเดียว

เมื่อคู่ของเราทำให้เสียแต้มไปด้วยความประมาท อย่าเพิ่งแสดงอาการฉุนเฉียวดุด่าตำหนิเขาออกมาในทันทีทันใดเพราะในขณะนั้นเขาก็ต้องสำนึกเสียใจอยู่แล้วเมื่อทำเสียแต้ม หากยิ่งโดนตำหนิซ้ำเติมเข้าอีก เขาอาจจะยิ่งท้อแท้มากขึ้น และอาจพาลหมดกำลังใจเอาดื้อๆทำให้พลาดไปจนตลอดเกม ควรกระตุ้นเขาให้ควบคุมสมาธิให้ดีเพื่อเพชิญปัญหารอบด้านอย่างมั่นคง หลีกจุดอ่อน เล่นจุดด้อย

ถ้าท่านโชคดีน้อยหน่อย ต้องทำการแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่มีท้อปสปินแรงและลูกกระดอนสูง ไม่สมควรที่จะไปโต้ลูกที่เขาถนัด เราต้องเพิ่มสมาธิในการกำหนดจังหวะกระดอนลูกมากขึ้น ตาจับมองอยู่ที่ลูกอยู่ตลอดเวลาเพราะการตีลูกพลาดจากใจกลางหน้าไม้จะทำให้เสียแต้มได้ง่ายขึ้น หรือวอลเลย์ลูกพลาดจนเสียแต้ม

ในการเสิร์ฟต้องมั่นใจว่าลงมุมแบ็คแฮนด์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของคู่ต่อสู้มันเป็นการง่ายที่จะบีบลูกเสิร์ฟแรกให้ลงทางด้านแบ็คแฮนด์ หากเรารู้ถึงการบิดหน้าไม้เล็กน้อยในการเสิร์ฟแบบแฟล็ตและทวิสต์ ท่านต้องฝึกให้ลูกกระทบหน้าไม้เร็วขึ้นและล้ำหน้าตนเอง เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักในการเสิร์ฟและเพิ่มสปินให้กับลูกเสิร์ฟ การใช้หัวไหล่กับการรู้จักโถมน้ำหนักตัวช่วยในการเสิร์ฟ จะทำให้ลูกเสิร์ฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในการเสิร์ฟคอร์ทที่สอง(ทางด้านขวามือของผู้ที่เสิร์ฟ) ไม่เป็นการยากเลยที่จะเสิร์ฟให้ลงทางด้านแบ็คแฮนด์(ในกรณีทั่วๆไปที่ต่างก็ถนัดขวา) หากผู้เสิร์ฟเลือกยืนในตำแหน่งที่ชิดเส้นข้าง แต่ถ้าคู่ต่อสู้ถนัดซ้าย ผู้เสิร์ฟก็เลือกยืนในตำแหน่งที่เกือบชิดเซ็นเตอร์มาร์ค หากพบกับคู่ต่อสู้ที่รับลูกเสิร์ฟได้ดีเยี่ยม เราต้องพยายามเปลี่ยนรูปแบบการเสิร์ฟอยู่เสมอ ใช้เทคนิคในการเสิร์ฟลูกต่างๆสลับกันไป เพื่อป้องกันไม่ให้คู่ต่อสู้จับจุดได้ในการรับลูกเสิร์ฟ อย่าใช้ลูกหลอบกับคู่ต่อสู้ที่มีการตบลูกเหนือศีรษะได้รุนแรงแน่นอน ยกเว้นในภาวะที่จวนตัวและจำเป็น อย่าพยายามตีลูกจี้เข้าหาผู้ที่เล่นวอลเลย์หน้าเน็ตได้คล่องแคล่ว เพราะเท่ากับการส่งเนื้อเข้าปากเสือนั่นเอง

เราจะก่อกวนสมาธิของคู่ต่อสู้ที่มีลูกเสิร์ฟแน่นอนได้โดยเคลื่อนย้ายตำแหน่งที่ยืนรับอยู่เรื่อยๆบางครั้งก็ถอยหลังห่างออกจากเส้นท้ายคอร์ทสัก 1 หลา บางทีก็ก้าวขึ้นไปยืนจนเกือบถึงเส้นเสิร์ฟเพื่อเข้าตีในลักษณะไร้ซิ่งบอล การกระทำแบบนี้จะทำให้ผู้เสิร์ฟยุ่งยากในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเสิร์ฟ และทำให้เกิดความหงุดหงิดเสียสมาธิได้ง่าย

หากพบกับคู่ต่อสู้ที่มีการเสิร์ฟสไล้ซ์ฉีกข้างมากๆ ต้องตัดสินใจก้าวก้าวเข้ามารับลูกในคอร์ทอีกเล็กน้อยเพื่อให้เข้าถึงลูกเร็วกว่าปกติก่อนที่ลูกจะหักเหเบี่ยงออกไปตามมุมกระดอน แต่ถ้าสามารถทำได้และต้องวิ่งออกไปรับนอกคอร์ทเสิร์ฟ ช่องโหว่ตรงกลางระหว่างคุณทั้งสองจะมีมากขึ้นทีเดียว

ลูกเสิร์ฟที่รุนแรงและอเมริกันทวิสต์ มักเป็นลูกที่รับยาก แต่จะไม่ยากอีกต่อไปหากรู้เทคนิคในการรับเมื่อคู่ต่อสู้โยนลูกเลยศีรษะไปทางด้านหลังเล็กน้อย เราต้องคอยโต้ลูกที่กระดอนสูงเข้าทางด้านแบ็คแฮนด์ให้ดี (ในกรณีที่ต่างก็ถนัดขวา) หากเราเตรียมตัวไม่พร้อมหรือยืนรับผิดตำแหน่ง ก็อาจตีลูกไม่ทันหรือตอบโต้เบาเกินไปดังนั้นประการที่สำคัญก็คือ เมื่อเห็นลูกกระทบพื้นที่จุดใดให้รีบก้าวเข้าหาลูกทันที

การเสิร์ฟแบบอเมริกันทวิสต์มักนิยมเสิร์ฟในคอร์ทซ้ายมากกว่า(คอร์ททางซ้ายมือของผู้รับ) เพราะจะบีบให้ผู้รับต้องวิ่งออกไปรับลูกนอกคอร์ทด้วยแบ็คแฮนด์ อย่างไรก็ตามการเสิร์ฟแบบอเมริกันทวิสต์ใช้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นคอร์ทเสิร์ฟด้านใด

เปลี่ยนกลวิธี

ปกติรูปแบบการเล่นคู่มักแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ การเป็นฝ่ายรุกและการเป็นฝ่ายรับ จึงไม่ยากเลยที่จะเรียนรู้และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นักเทนนิสมืออาชีพมักเล่นตามรูปแบบดังกล่าวนี้เสมอ แต่นักเทนนิสระดับสโมสรมักไม่นิยมใช้หรือนำมาใช้ไม่ถูกกับสถานการณ์ ซึ่งความจริงหากแต่ละคนสนใจและเอาใจใส่ในการศึกษาให้เข้าใจอย่างจริงจังก็จะประสบกับความสำเร็จในการแข่งขันมากขึ้น

เมื่อเป็นฝ่ายเสิร์ฟและต้องเผชิญกับผู้ที่รับลูกได้เฉียบขาดด้วยการโต้ครอสคอร์ทกลับมา ซึ่งฝ่ายเสิร์ฟแทนที่จะเป็นฝ่ายรุกกลับต้องเป็นฝ่ายรับไปอย่างน่าเสียดาย มีวิธีการที่จะช่วยให้ฝ่ายเสิร์ฟนั้นพ้นจากสภาพการณ์เสียเปรียบได้ นั่นคือวิธีการตั้งรับเพื่อรุกแบบ I – Formation หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นยุทธวิธีแบบออสเตรเลียนแต่ที่มักจะใช้คำว่า I – Formation เพราะมีความหมายตรงตัวเพราะผู้เสิร์ฟกับคู่ของผู้เสิร์ฟยืนอยู่ด้านเดียวกันเป็นแนวตรงและยืนชิดเส้นแบ่งครึ่งคอร์ทเสิร์ฟและเซ็นเตอร์มาร์ค

ด้วยวิธีการยืนเช่นนี้ จะทำให้ผู้รับซึ่งโต้กลับด้วยลูกครอสคอร์ทที่เฉียบขาดไม่กล้าจะตีโต้ลูกในลักษณะที่ตนถนัด เนื่องจากคู่ของผู้เสิร์ฟยืนดักเฝ้ารออยู่แล้วที่จะวอลเลย์กลับไปดังนั้น จึงเป็นการบีบให้ต้องตีกลับมาในลักษณะขนานเส้นข้าง ซึ่งผู้เสิร์ฟจะเป็นผู้วิ่งขึ้นไปรอดักลูกอยู่ แต่ถ้าฝ่ายเสิร์ฟคำนวณดูแน่ใจว่าผู้รับจะต้องรับกลับมาในลักษณะขนานเส้นข้าง บางทีผู้ยืนหน้าเน็ตของฝ่ายเสิร์ฟอาจจะตัดสินใจเข้าโฉบทำแต้มก็ได้ การตั้งรูปแบบ I – Formation สามารถนำมาใช้กับผู้รับที่หลอบได้เก่งๆอีกด้วย เพราะฝ่ายเสิร์ฟมีโอกาสตั้งหลักหาเป้าหมายในการเลือกตบลูกลงยังฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น

แต่เมื่อฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายได้เปรียบในสถานการณ์นั้น เช่นเราต้องเป็นฝ่ายรับลูกเสิร์ฟที่รุนแรงและแก้ไขไม่ทัน หรือฝ่ายตรงข้ามมีการรุกขึ้นหน้าเน็ตที่ประสานงานกันดีและไม่มีช่องโหว่ เราอาจจะต้องถอยลงหลังทั้งคู่เพื่อประวิงเวลาและดึงเกมให้ช้าลงจากนั้นจึงค่อยหาหนทางทำแต้มด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการตีไปเรื่อยๆหรือพยายามหลอบลึกบีบให้คู่ต่อสู้ต้องถอยลงเพื่อให้เรามีโอกาสเป็นฝ่ายบุกบ้างและพยายามทะแต้มให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อถนอมกำลังไว้สำหรับการเล่นในแต้มต่อไป...

บทความโดย : เบ็ญจ์ - จิตตภาวดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น