วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนเกมการเล่น


เมื่อไรที่ควรเปลี่ยนเกมการเล่น ไม่เคยมีใครรู้สึกดีเวลาที่ยุทธวิธีเล่นเริ่มแรกของตนกำลังสั่นคลอน ขณะที่คู่ต่อสู้เป็นฝ่ายคุมเซ็ตแรกเสียอยู่หมัด นักเทนนิสส่วนใหญ่จะรู้สึกหวั่นไหวและหมดกำลังใจตรงนี้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นช่วงที่เราควรจะมองในแง่ดีเสียมากกว่า หลักสำคัญในการแข่งเทนนิสก็คือการหาวิธีโต้ตอบคู่ต่อสู้ให้ได้ ถ้าเรายังอยากคุมอารมณ์ให้ได้ ในตอนนั้นก็ควรสังเกตดูว่าทำไมเราจึงยังเสียแต้มอยู่อย่างนี้ และอย่ายอมแพ้เด็ดขาด
ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธีการเล่นขณะแข่งขันที่รูปการปรากฏออกมาว่าเรากำลังจะแพ้แน่ ๆ เราควรจะมั่นใจเสียก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ยุทธวิธีการเล่น ไม่ใช่ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเกมของเรา เพราะฉะนั้นหากเรากำลังอยู่ในสถานการณ์คับขัน ให้ถามตัวเอง 3 ข้อต่อไปนี้

1. จิตใจของเรามั่นคงดีหรือไม่
ถ้าทัศนคติและสมาธิของเรากำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนยุทธวิธีการเล่นอย่างไรก็คงจะไม่ได้ผลอย่างแน่นอน ดังนั้นควรจะเน้นควบคุมปรับปรุงทางด้านจิตใจ และคงเล่นยุทธวิธีเดิมต่อไป

2. เราวอร์มอัพและจดจ่ออยู่กับการแข่งขันอย่างเต็มที่หรือยัง
ถ้าเราเริ่มแมตช์ด้วยการพลาดเองอย่างง่าย ๆ เป็นส่วนใหญ่ ก็อาจเป็นได้ว่าเครื่องเรายังไม่ติดและยังไม่ทันตั้งตัว เราอาจพบว่าแมตช์กำลังจะพลิกเกมตอนที่เราเริ่มเหงื่อออกแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้หาจังหวะของเราและเริ่มปฏิบัติการอย่างเต็มที่ได้เลย

3. คู่ต่อสู้เรากำลังฮอตแบบชั่วคราวหรือเปล่า
อย่าเร่งเปลี่ยนเกมการเล่นเพียงเพราะว่าคู่ต่อสู้ของเราเริ่มต้นแมตช์ได้สวยด้วยการอาศัยโชคเพียงไม่กี่ช็อต ถ้าเรารู้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้แล้วก็อย่าปล่อยให้ลูกวินเนอร์เหล่านั้นมาขัดขวางให้เราลังเลในการโจมตีจุดอ่อนของเขา

หากเราลองสังเกตดูแล้วปรากฏว่าไม่เข้าข่ายในสามข้อข้างต้นเลย ก็อาจถึงเวลาแล้วที่ควรปรับยุทธวิธีการเล่น อย่างไรก็ตามควรพิจารณาถึงข้อแนะนำต่อไปนี้
*ควรให้โอกาสกับยุทธวิธีดั้งเดิมของเราเสมอ
ถ้าคู่ต่อสู้สามารถหาทางโต้ตอบยุทธวิธีของเราตอนต้นแมตช์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาคงจะฮอตอยู่แค่ไม่กี่เกม แต่ในที่สุดความเป็นจริงก็จะเริ่มขึ้น และยุทธวิธีของเราก็เริ่มได้ผล บ่อยครั้งหากเราเครียดกับจุดอ่อน คู่ต่อสู้ก็จะจู่โจมทำแต้ม ให้ยึดทัศนะนี้ไว้ตลอดเซ็ตที่หนึ่ง ถ้าเราเสียเซ็ตแรก ทีนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเกมการเล่นแล้ว
ทัศนะอันนี้ทำให้แพทริค ราฟเตอร์ สามาถเข้าถึงรอบรองฯเฟร้นโอเพน และคว้าแชมป์ยูเอสโอเพน ในปีค.ศ. 1997 เขายึดติดอยู่กับแผนการเล่นในการเสริฟและขึ้นวอลเลย์ ไม่หวั่นไหวเปลี่ยนไปยึดเกมท้ายคอร์ตเพียงเพราะคู่ต่อสู้ของเขาตีพาสซิงช็อตอันงดงามมาเพียงไม่กี่ลูก

*อย่าเปลี่ยนยุทธวิธีจนต่างจากจุดที่ตัวเองถนัดอย่างสิ้นเชิง
อย่าลืมตัวว่าเกมการเล่นแบบไหนที่เราถนัด ถ้าเราถนัดเล่นท้ายคอร์ต และไม่เก่งหน้าเน็ตเอาเสียเลย ก็ไม่ต้องเปลี่ยนถึงขั้นเสิร์ฟวอลเลย์ในทุก ๆ แต้ม

*เก็บเอาเงื่อนไขรอบ ๆ ตัวมาพิจารณาด้วย
ถ้าอากาศร้อนมาก โดยเราคาดว่าจะต้องอ่อนแรงอย่างแน่นอนหากแรลลีกันนาน ๆ ก็ให้วางแผนเล่นอย่างชาญฉลาด เช่น ชิพแอนด์ชาร์ตทุกจังหวะที่เรามีโอกาส เพื่อให้แต่ละแต้มกินเวลาน้อยลง

*เตรียมแผนสำรองไว้มากกว่าหนึ่ง
การเปลี่ยนยุทธวิธีระหว่างการแข่งขันจะง่ายขึ้น หากเราเตรียมคิดถึงวิธีพิชิตคู่ต่อสู้มามากกว่าหนึ่ง นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการเล่นเกมได้อย่างสมบูรณ์จึงได้เปรียบ พีท แซมปราส เป็นผู้เล่นคนหนึ่งที่เอาชนะได้ยากก็เพราะเขาสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ไม่ว่าจะด้วยการเสิร์ฟ-วอลเลย์หรือปักหลักท้ายคอร์ต

*ต้องมั่นใจว่าทัศนะและความเอาจริงของเรายังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุทธวิธีเ
หากเราหวั่นไหวโอดครวญไปกับการเปลี่ยนยุทธวิธี คู่ต่อสู้เราก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในทางกลับกัน หากเราสนุกไปกับเกมการเล่นใหม่นี้ ก็จะเป็นการทำลายคู่ต่อสู้แทน อีกประการหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่ทุ่มเทจิตใจและวิญญาณให้กับการแข่งขัน ความสามารถในตัวของเราก็จะไม่ปรากฏออกมา

หากเราต้องการชัยชนะในการแข่งขันเทนนิส ก็ต้องรู้จักการปรับเล็กน้อยสำหรับยุทธวิธีการเล่นดั้งเดิมของเรา อย่าเปลี่ยนเกมการเล่นเร็วจนเกินไป และอย่าเสี่ยงเล่นในรูปแบบที่เราไม่ถนัด ถ้าทำได้ตามนี้เราก็จะค้นพบว่าเป็นการน่าพึงพอใจแค่ไหนในการเปลี่ยนแผนการเดิม เพื่อกลับมาเป็นฝ่ายคุมเกมและชนะการแข่งขันในที่สุด


บทความโดย : นิตยสารเทนนิส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น